PRP ทำให้ผมขึ้นใหม่ได้จริงหรือ ? 

ปัจจุบันการทำ PRP หรือ Platelet-Rich Plasma เป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะเป็นหัตถการที่นำมาใช้ทางการแพทย์ได้หลายอย่าง เช่น การฉีดลดอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม การฉีดบนผิวหน้าเพื่อให้ริ้วรอยหาย และอีกหนึ่งที่นิยมไม่แพ้กัน นั่นก็คือการฉีด PRP ไปยังบริเวณศีรษะเพื่อบรรเทาอาการผมร่วงนั่นเอง

PRP คืออะไร ?

PRP หรือ Platelet-Rich Plasma คือการสกัดเอาเกล็ดเลือดที่อยู่ในน้ำเลือด ที่อุดมไปด้วยสารต่างๆที่เรียกว่า Growth factors มีประโยชน์ในการซ่อมแซม หรือการฟื้นฟูตัวเองของอวัยวะปลายทางที่ฉีด ทำให้ปัจจุบัน การฉีด PRP ถือเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันเพราะเป็นส่วนประกอบจากเลือดของคนไข้เอง จึงมีความปลอดภัยสามารถนำมาฉีดรักษาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรักษาผิวหน้า ฉีดข้อต่อเพื่อให้แข็งแรง หรือการฉีดบริเวณหนังศีรษะ เพื่อบำรุงรากผมให้มีความแข็งแรง

การฉีด PRP สามารถทำให้ผมเกิดใหม่ได้ไหม ?

จากการวิจัยในอดีต ได้มีการนำเอา PRP มาฉีดที่หนังศีรษะตรงบริเวณที่มีผมบาง พบว่า PRP เข้าไปช่วยฟื้นฟูเส้นผมในบริเวณนั้นให้มีการหลุดร่วงที่น้อยลงได้จริง และทำให้เส้นผมกลับมามีความหนาได้ 

แต่! PRP ไม่สามารถสร้างเส้นผมเส้นใหม่ให้เกิดขึ้นมาใหม่ได้นั่นเอง

ขั้นตอนการทำ PRP 


1.นำเอาเลือดของคุณออกมา โดยเจาะไปยังบริเวณข้อพับต้นแขน และนำเลือดออกมาในปริมาณ 20 cc

2.นำเลือดที่เจาะออกมา ไปเข้าเครื่องเหวี่ยงสาร 

3.แยกเอามาเฉพาะส่วนของน้ำเลือดสีเหลืองใสที่มีเกล็ดเลือด และ Growth Factors ที่มีความเข้มข้นสูง

4.นำเกล็ดเลือดฉีดกลับเข้าไปที่บริเวณหนังศีรษะ ในส่วนที่ต้องการรักษา ที่จะไปช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต และการแบ่งของเซลล์รากผมให้รากผมฟื้นตัวได้ไว  รากผมที่อ่อนแอจะกลับมาแข็งแรง และเข้าสู่ระยะการงอกยาวเร็วขึ้น และยังช่วยยืดให้ระยะการงอกยาวนานขึ้นอีกด้วย

** โดยกระบวนการทำ Plasma Hair PRP ใช้เวลาทั้งหมดเพียง 1 ชั่วโมง

ใครบ้างที่ไม่เหมาะสำหรับการฉีด PRP

1.ผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด หรือมีเกล็ดเลือดต่ำ

2.ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันผิดปกติ

3.ผู้ที่มีปัญหาโลหิตจาง

4.กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยติดเชื้อ หรือมีโรคผิวหนังบางประเภท รวมถึงไขมันในเลือดสูง

5.ผู้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PRP 

หลายๆท่านอาจคิดไปว่า PRP ก็คือสเต็มเซลล์ ซึ่งความจริงไม่ถูกต้องครับ นั่นก็เพราะว่าเกล็ดเลือดของเรามีองค์ประกอบไม่ครบที่จะเป็นเซลล์ ซึ่งปกติเซลล์จะมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่ 3 อย่าง

1.เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell Membrane) 

2.ของเหลวภายในเซลล์ (Cytoplasm) 

3.นิวเคลียส (Nucleus) ที่เป็นที่เก็บสารพันธุกรรมอย่าง DNA เซลล์นั้น ๆ

ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นไม่มีนิวเคลียส ทำให้ไม่สามารถนับว่าเป็นเซลล์ได้ ฉะนั้นการที่บอกว่าการฉีด PRP เป็นการฉีดสเต็มเซลล์จากเลือดจึงไม่ถูกต้อง

   คำถามที่พบบ่อยเรื่องการทำ PRP 

1. ต้องฉีด PRP กี่ครั้ง

แนะนำให้ทำ PRP ประมาณ 3 ครั้งขึ้นไป จนถึง 10 ครั้ง (สำหรับคนที่มีปัญหาเยอะ)
โดย 3-4 ครั้งแรกจะทำทุก 2 สัปดาห์ และครั้งถัด จะทำทุก 1 เดือน เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

2. หลังฉีด PRP จะเห็นผลเมื่อไร

จะเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลงประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะเห็นผลที่ชัดเจนมากภายใน 3 เดือน โดยสังเกตได้ที่เส้นผม ว่าเส้นใหญ่ขึ้น หนาขึ้น และผมหลุดร่วงลดลง

3. หลังทำครบแล้วจะกลับมาร่วงอีกไหม 

หลังจากทำครบจนเห็นผลดีขึ้นแล้ว ผลลัพต์ของ PRP จะอยู่ได้ประมาณ 1-3 ปีตามอายุขัยของเส้นผม แต่แนะนำฉีดต่อเนื่องทุก 2-3 เดือน เพื่อคงสภาพความสมบูรณ์ของรากผมเอาไว้ ไม่ให้กลับไปบางอีก

4. ผมบางทำไมถึงแนะนำให้ทำ PRP ข้ามไปปลูกผมถาวรเลยได้ไหม

การปลูกผมถาวรเหมาะกับบริเวณที่ไม่มีรากผมแล้ว เช่นบริเวณที่เว้าขึ้นเป็นรูปตัวเอ็ม ผิวหนังจะใสๆ มองไม่เห็นรูขุมขน ส่วนคนที่ผมบางหรือผมเส้นเล็ก จะยังมีรากผมอยู่ ยังสามารถทำให้หนาและใหญ่ขึ้นเพื่อให้ดูหนาขึ้นได้ด้วย PRP ครับ

5. มีรับประกันผลไหม

การรักษาด้วย PRP มีงานวิจัยรองรับว่าช่วยได้จริง โดยสามารถกระตุ้นรากผม และชะลอการเกิดภาวะผมบางจากกรรมพันธุ์ได้

ยกตัวอย่างเป็นงานวิจัยที่ทำจริง ตรวจด้วย trichogram จากคอมพิวเตอร์ พบว่าเพิ่มจำนวนผมได้เฉลี่ย 33.6 เส้น และ เพิ่มความหนาแน่นได้ 45.9 เส้น ต่อตารางเซนติเมตร อ่านงานวิจัย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล สืบเนื่องมาจากโครงสร้างร่างกายที่ต่างกันในแต่ละคน รวมถึงผลจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การดื่มแอลกอฮอลล์ หรือการสูบบุหรี่

6. มีโรคประจำตัว เช่น เลือดจาง ความดัน ทำได้ไหม /โรคประจำตัวอะไรที่ทำไม่ได้


การทำ PRP ในคนที่มีโรคประจำตัวสามารถทำได้ทุกเคส ยกเว้นเป็นโรคเกล็ดเลือดจาง หรือ ITP – โรคเกล็ดเลือดจางเป็นคนละโรคกับโรคเลือดจางครับ โรคเลือดจางสามารถทำ PRP ได้เนื่องจากสิ่งที่ขาดคือเม็ดเลือดแดง ไม่ใช่เกล็ดเลือด

7. ทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ทำได้ไหม/มียาที่ต้องทานประจำอยู่ทำได้ไหม


การทานยาละลายลิ่มเลือดจะทำให้เกล็ดเลือดไม่ทำงาน อาจจะทำให้ผลลัพธ์ของการฉีดรักษาลดลงได้ แนะนำว่าควรปรึกษาคุณหมอก่อนเริ่มการรักษาครับ

8. เป็นมะเร็งทำได้ไหม


สามารถทำได้ครับ แต่หากผมร่วงจากการให้คีโมเทอราปี แนะนำรอจนคีโมเทอราปีครบ แล้วค่อยมากระตุ้นจะเห็นผลดีกว่าในระยะยาว เนื่องจากการได้รับคีโมเทอราปีส่งผลให้ผมร่วง เป็นภาวะที่เรียกว่า Anagen effluvium จึงควรแก้ที่ต้นเหตุของภาวะนี้ครับ

9. จะแพ้ไหม/เป็นอันตรายไหม


เนื่องจาก PRP เป็นการใช้เลือดของเราเอง จึงปลอดภัย โอกาสที่จะแพ้มีน้อยมากครับ

สรุปแล้ว การรักษาด้วย PRP ไม่สามารถสร้างเส้นผมให้เกิดใหม่ได้ แต่ PRP จะเป็นการฟื้นฟู และบำรุงรากผม ให้เส้นผมกลับมาแข็งแรง ลดอาการหลุดร่วง และช่วยให้เส้นผมเติบโตดูหนาขึ้นได้

ทริกเพิ่มเติม สำหรับใครที่ปลูกผมไปแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าผมอ่อนแอ มีอาการหลุดร่วง ขอแนะนำให้ฉีด PRP ควบคู่กันไปด้วย เพื่อผลลัพธ์ที่ดี และลดปัญหาผมหลุดร่วง

Share the Post: